การจัดการเรียน การสอน

การเรียนการสอนระดับอนุบาล

ในชั้นเรียนอนุบาลที่ศิริ์รัถยา เด็กๆ ชั้นอนุบาล 1-3 จะได้อยู่ร่วมในห้องเดียวกัน โดยมีคุณครู ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า “น้า” หรือ “ป้า” มาช่วยดูแล เพื่อให้เด็กรู้สึกไว้วางใจ และอบอุ่นเหมือนมีญาติคอยดูแล เด็กที่โตกว่าจะช่วยดูแลน้องเล็กในห้อง น้องเล็กจะได้ดูตัวอย่างจากพี่ที่โตกว่าด้วย

บรรยากาศในห้องจะใช้สีที่อบอุ่น ของเล่นส่วนใหญ่จะทำจากวัสดุธรรมชาติ และไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เพื่อให้เด็กได้ใช้จินตนาการในการเล่นได้อย่างเต็มที่ การเล่นจะมีทั้งการเล่นอิสระในห้องและกลางแจ้ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ ได้พัฒนาการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ผู้ดูแลจะนำพาเด็กๆ ทำกิจกรรมในแต่ละวัน การเปลี่ยนผ่านกิจกรรมต่างๆ จะทำด้วยความนุ่มนวลผ่านการร้องเพลง แทนการใช้คำสั่ง นอกเหนือจากกิจกรรมที่เด็กๆ ได้ทำเป็นประจำทุกวัน ยังมีกิจกรรมที่เสริมเข้าไปให้เป็นจังหวะของสัปดาห์ เช่นทำอาหารว่าง ระบายสีน้ำ ทำขนมปัง เดินทางไกล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ ที่หมุนเวียนเกิดขึ้นในช่วงปี จังหวะของกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กๆ มีจังหวะชีวิตที่ดี สร้างความไว้วางใจ และความมั่นคงภายใน เกิดความมั่นใจว่าเขาสามารถทำได้

เด็กๆ จะได้เรียนรู้การดูแลรักษาสิ่งของต่างๆ ของตนเองและส่วนรวม รวมถึงดูแลและให้ความเคารพผู้อื่น

การบ่มเพาะสิ่งที่ดีงามในชั้นอนุบาล จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาชีวิตของเด็กในขั้นต่อไป


การเรียนการสอนระดับประถม

ในชั้นประถม กระบวนการเรียนรู้เริ่มจากการปฏิบัติมาสู่ความเข้าใจทางทฤษฎี เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง โดยทำงานภาคปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ จากนั้นความรู้ที่ได้มาจะถูกเรียบเรียง ถ่ายทอดลงในสมุดงานของตน นอกจากนี้ยังสอดแทรกศิลปะอยู่ในการเรียนรู้ต่างๆ

การเรียนภาษา จะเริ่มจากรูปภาพมาสู่ตัวอักษร เด็กจะได้เรียนภาษาต่างประเทศด้วยวิธีธรรมชาติ เช่นเดียวกับเรียนภาษาแม่ โดยใช้หลักการเลียนแบบ เริ่มจากการฟัง พูด ผ่านเพลง เกม นิทานก่อน แล้วจึงเขียนอ่านในชั้นต่อๆ ไป

การเรียนคณิตศาสตร์ จะผ่านทั้งการเคลื่อนไหว จังหวะ การคำนวณ และศิลปะ เด็กจะได้ฝึกคิด และยังเป็นช่องทางให้เราปลูกฝังจริยธรรมในเด็กได้อีกด้วย ในการเรียนรู้ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ จะไม่ได้เริ่มจากทฤษฎีแล้วทำการพิสูจน์ หากแต่เริ่มด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กค้นพบทฤษฎีต่างๆ ด้วยตนเอง โดยที่มีความงามผสมผสานและสร้างสมดุลให้แก่หลักเหตุผลนั้นด้วย

การเรียนวิทยาศาสตร์ จะเริ่มด้วยการเรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติ สัตว์ พืช มนุษย์ แล้วจึงมาสู่เรื่องราวของวัตถุในชั้นสูงๆ ขึ้นไป โดยผ่านการสังเกต เก็บรับประสบการณ์ ก่อนจะหาข้อสรุปด้วยตนเองต่อไป

การเรียนหัตถกรรม เด็กๆ จะได้รับประสบการณ์ในการทำสิ่งของเครื่องใช้ ของเล่น ด้วยมือตนเอง โดยเริ่มจากวัตถุดิบจนเป็นผลงานสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นไหมพรม ผ้า ไม้ เป็นต้น งานเหล่านี้จะช่วยฝึกนิ้วมือให้คล่องแคล่ว เพื่อนำพลังเจตจำนงไปสู่แขนขา

การเรียนประวัติศาสตร์ ตำนาน จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้จากอดีต รู้จักรากเหง้าความเป็นมาของตนและมนุษยชาติ ให้ความเคารพต่อสิ่งที่บรรพชนสร้างสมมา ซึ่งจะช่วยให้เขาเข้าใจปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างมีความหมาย

การเรียนภูมิศาสตร์ จะนำเด็กไปสู่ความสนใจในโลกภายนอก ความมหัศจรรย์ในโลกธรรมชาติ ปลูกฝังสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ นำไปสู่ความเข้าใจในเพื่อนร่วมโลก และบ่มเพาะสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์และโลก

การเรียนดนตรี เด็กๆ จะได้เรียนดนตรีในทุกชั้น ตามความเหมาะสมในแต่ละวัย เนื่องจากดนตรีเป็นศิลปะที่เข้าถึงส่วนลึกที่สุดของจิตใจมนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการกล่อมเกลา หล่อเลี้ยง ยกระดับจิตใจ และปลูกฝังความเป็นมนุษย์ลงในตัวเด็ก

การเรียนศิลปะ ศิลปะช่วยเสริมและเพิ่มมิติอื่นๆ ให้แก่เนื้อหาของบทเรียนหลัก เสริมสร้างความกลมกลืนแก่พัฒนาการของเด็ก เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา เจือการใช้ความคิดด้วยความรู้สึกและสุนทรีย์ เพื่อให้การศึกษาไปสู่หัวใจและมือ ก่อนที่จะผ่านไปสู่สมอง ศิลปะที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ เช่น การปั้น การระบายสีน้ำ การวาดภาพ การร้องเพลง เล่นดนตรี เป็นต้น